ข้อมูลท่องเที่ยว จังหวัดกาฬสินธุ์

อำเภอเมือง
อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร (ท้าวโสมพะมิตร) ตั้งอยู่หน้าที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นอนุสาวรีย์หล่อด้วยสัมฤทธิ์เท่าตัวจริงยืนบนแท่นมือขวาถือกาน้ำ มือซ้ายถือดาบอาญาสิทธิ์ ชาวกาฬสินธุ์ทุกหมู่เหล่าได้สละทรัพย์ก่อสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาต่อผู้ให้กำเนิดเมืองกาฬสินธุ์
วัดกลาง อยู่ที่อำเภอเมือง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ดำ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 20 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปลักษณะงดงาม สร้างในสมัยพระเจ้าคูนาข้าม พระชัยสุนทร (กิ่ง) ได้นำมาเป็นพระพุทธรูปศรีเมือง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หากปีใดฝนแล้งประชาชนชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปออกแห่ขอฝนเสมอ ที่พระแท่นมีรอยจารึกเป็นอักษรไทยโบราณ

นอกจากพระพุทธรูปองค์ดำแล้ว วัดกลางยังมีพระพุทธบาทจำลองขนาดกว้าง 1 ศอก ยาว 4 ศอก ทำด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าในสมัยละว้าปกครอง เดิมอยู่ริมลำปาวใกล้แก่งสำโรงได้มีการสมโภชน์ทุกปี แต่ต่อมาตลิ่งลำปาวพังเข้ามาทุกปี ชาวเมืองเกรงจะถูกน้ำเซาะทำลาย จึงได้อัญเชิญมาไว้ในพระอุโบสถร่วมกับพระพุทธรูปองค์ดำ
วัดศรีบุญเรือง (วัดเหนือ) เป็นวัดเก่าแก่ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์แห่งหนึ่ง ซึ่งมีเสมาจำหลักเมืองฟ้าแดดสูงยางจำนวนหนึ่งเก็บรักษาไว้ โดยปักไว้รอบพระอุโบสถ หลักเสมาจำหลัก ที่สวยงามคือ หลักที่จำหลักเป็นรูปเทวดาอยู่เหนือปราสาททำเป็นซุ้มเรือนแก้ว (ศิลปแบบทวารวดี) ซ้อนกันเป็น 2 ชั้น ล่างสุดมีรูปกษัตริย์ พระมเหสีและพระโอรส
พระพุทธรูปสถานภูปอ ตั้งอยู่ตำบลภูปอ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ไปทางทิศเหนือประมาณ 28 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 2319 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณปางไสยาสน์ ฝีมือช่างจากสมัยทวาราวดี จำหลักบนหน้าผา 2 องค์ เป็นที่เคารพบูชาของชาวจังหวัดกาฬสินธุ์และใกล้เคียง องค์แรกประดิษฐานอยู่บนเชิงเขาทางขึ้น องค์ที่ 2 ประดิษฐานอยู่บนภูปอ นอกจากภูปอจะเป็นที่ ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางไสยาสน์อันศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังมีทิวทัศน์ตามธรรมชาต ิที่สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจอย่างยิ่ง ประชาชนในท้องถิ่นจัดงานสมโภชน์ พระพุทธไสยาสน์ขึ้นประมาณเดือนเมษายน ของทุกปี

อำเภอกมลาไสย
เมืองฟ้าแดดสูงยาง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอกมลาไสย ฟ้าแดดสงยาง หรือเรียกเพี้ยนไป
เป็นฟ้าแดดสูงยาง บางแห่งเรียกว่า เมืองเสมา เนื่องจากมีผังเมืองรูปร่างคล้ายใบเสมา เป็นเมืองโบราณ มีซากอิฐปนดิน คูเมืองสองชั้นมีลักษณะเป็นท้องน้ำที่พอมองเห็น คือพระธาตุยาคู ผังเมืองรูปไข่แบบทวาราวดีแต่มีตัวเมืองสองชั้น เชื่อว่าเกิดจากการขยายตัวเมือง ชาวนามักขุดพบใบเสมาหินทรายมีลวดลายบ้าง ไม่มีบ้าง ที่ขึ้นทะเบียนไว้ทางกรมศิลปากร 130 แผ่น พระพิมพ์ดินเผามีลักษณะเป็นอิทธิพลของสกุลช่างคุปตะรุ่นหลัง อายุประมาณ 1,000-2,000 ปี มีอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังพบกล้องยาสูบดินเผาลวดลายอมราวดี ก้านขดเป็นรูปตัวมังกร อายุ 7,000 ปี ที่น่าสนใจคือกล้องยาสูบชนิดเดียวกันแต่ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ อายุประมาณ 5,000-6,000 ปี ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่ายุคโลหะของสุวรรณภูมิได้เริ่มมาก่อนทุกๆ แห่งในโลกนี้
เมืองฟ้าแดดสูงยาง จึงเป็นเมืองโบราณที่มีอายุระหว่าง พ.ศ. 1300-1600 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเสมา ตำบลหนองแปน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 19 กิโลเมตร เดินทางตามเส้นทาง 214 (กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด) แยกขวามือเข้าทางโรงเรียนกมลาไสย ประมาณ 13 กิโลเมตร แยกขวามือเข้าไปตามทางลูกรังอีก 600 เมตร นับเป็นสถานที่สำคัญในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับ โบราณสถานโบราณวัตถุที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด
พระธาตุยาคู เดิมเรียกว่า “ธาตุใหญ่” เป็นพระสถูปสมัยทวาราวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15) ตั้งอยู่กลางทุ่งนาทิศเหนือบ้านเสมา อำเภอกมลาไสย ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ประมาณ 19 กิโลเมตร เป็นศิลปะการก่อสร้างแบบทวาราวดี ทำด้วยอิฐดิน ฐานเป็นรูป 8 เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ขนาดฐานกว้าง 10 เมตร ยาว 10 เมตร สร้างซ้อนกันเป็นลักษณะแบบจตุรมุขสูงจากฐานถึงยอด 8 เมตร เชื่อกันว่าเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิ ของพระเถระผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ สังเกตได้จากเมื่อเมืองเชียงโสมชนะสงคราม ได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองฟ้าแดดแต่ไม่ได้ทำลายพระธาตุยาคู จึงเป็นโบราณสถานที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งต่อมาได้มีการบูรณะ ชาวบ้านจะจัดให้มีงานเทศกาลเป็นประจำทุกปี ในระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เพื่อเป็นการขอฝนและความร่มเย็นของหมู่บ้าน
วัดโพธิ์ชัยเสมาราม หรือวัดบ้านก้อม อยู่ในอาณาเขตเมืองฟ้าแดดสูงยางไม่ไกลจากพระธาตุยาคู เป็นวัดโบราณ สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ ใบเสมาหินสมัยทวาราวดี ที่ปักอยู่เป็นแนวกำแพงและที่เก็บรวบรวมไว้ในวัดเป็นบางส่วน ที่ใบเสมาจำหลักเป็นภาพต่างๆ ส่วนมากสลักเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธศาสนา

อำเภอยางตลาด
เขื่อนลำปาว เป็นเขื่อนดินซึ่งสร้างปิดกั้นลำน้ำปาว และห้วยยาง มีบริเวณเขตติดต่อระหว่างตำบลลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ตำบลหนองบัว อำเภอหนองกุงศรี และตำบลเว่อ อำเภอยางตลาด ตามเส้นทางหมายเลข 209 ทางหลวงสายกาฬสินธุ์-มหาสารคาม ตรงหลักกิโลเมตรที่ 10 แยกขวามือเข้าเขื่อนลำปาวตามถนนลาดยาง 26 กิโลเมตร เป็นเขื่อนดินสูงจากท้องน้ำ 33 เมตร สันเขื่อนยาว 7.8 เมตร กว้าง 8 เมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2506 สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2511 เพื่อปิดกั้นลำน้ำปาวและห้วยยางที่บ้านหนองสองห้อง ตำบลลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำแฝดทางด้านเหนือเขื่อน จึงได้ขุดร่องเชื่อมระหว่างอ่างทั้งสอง เก็บน้ำได้ 1,430 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างขึ้นเพื่อบรรเทาอุทกภัยและเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้แก่ หาดดอกเกด ซึ่งเปรียบเสมือนสวรรค์ชายหาดของคนอีสาน
สถานีศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าลำปาว (สวนสะออน) อยู่บริเวณทิศตะวันออกของอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว มีเนื้อที่ 1,420 ไร่ เป็นสวนป่าธรรมชาติ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมทางหลวง ได้ร่วมกันดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติสวนสัตว์เปิด ได้นำสัตว์ป่าชนิดต่างๆ มาปล่อยไว้ให้อยู่แบบธรรมชาติดั้งเดิม มี “วัวแดง” เป็นสัตว์ป่าที่เป็นเอกลักษณ์ของสถานีฯ สภาพของป่าเป็นป่าเต็งรังหรือป่าแดงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม การใช้บ้านพักของสถานีฯ และตั้งแค้มป์พักแรมต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่สถานีฯ หรือทำจดหมายขออนุญาตล่วงหน้าส่งไปที่ สถานีศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าลำปาว ตู้ ป.ณ. 120 อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ 46000 หรือผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ เขตบางเขน กรุงเทพฯ โทร. 561-4292-3 ต่อ 708 ซึ่งสามารถเดินทางได้สองเส้นทาง คือ ตามเส้นทางไปเขื่อนลำปาว เมื่อถึงตัวเขื่อนจะมีทางเลียบสันเขื่อนไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางกาฬสินธุ์-สหัสขันธ์ (ทางหลวง 227) ประมาณ 19 กิโลเมตร และมีทางแยกซ้ายไปสวนสะออนอีกประมาณ 5 กิโลเมตร

อำเภอท่าคันโท
วนอุทยานภูพระ อยู่ที่ตำบลท่าคันโท อำเภอท่าคันโท จากตัวเมืองใช้เส้นทาง อำเภอเมือง-อำเภอยางตลาด-อำเภอท่าคันโท อยู่ห่างจากตัวเมืองท่าคันโทไป 4 กิโลเมตร ภายในวนอุทยานประกอบด้วยสวนหินรูปร่างแปลกตา อยู่ท่ามกลางป่าเต็งรัง ครอบคลุมพื้นที่ 65,900 ไร่