ข้อมูลท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยว อ.ภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น
อำเภอภูผาม่าน
– อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน รูปลักษณ์ภายนอกของอุทยานแห่งนี้คือเทือกเขาหินปูน ที่มีหน้าผาตัดตรงดิ่งลงมาเป็นริ้วๆคล้ายผ้าม่าน สภาพป่าของที่นี่ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าดิบ และป่าไม้เบญจพรรณ สภาพอากาศจะเย็นชื้นเกือบตลอดปี อุทยานแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 218, 750 ไร่ ครอบคลุมอาณาบริเวณในอำเภอภูผาม่าน และอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย
– ถ้ำค้างคาวตั้งอยู่บนภูผาม่าน ห่างจากที่ว่าการอำเภอฯประมาณ 2.5 กิโลเมตรอยู่บริเวณหน้าผาด้านหน้าสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 100 เมตร เมื่อเข้าใกล้จะได้กลิ่นเหม็นของค้างคาว ปากถ้ำสามารถมองเห็นแต่ไกล ภายในถ้ำมีค้างคาวขนาดเล็กอาศัยอยู่นับล้านๆตัว ภายในถ้ำมีกลิ่นเหม็นฉุนจัด ทุกวันค้างคาวจะออกจากถ้ำในเวลาประมาณ 18.00 น. ตอนบินออกจะใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที โดยจะบินออกเป็นกลุ่มยาวนับสิบกิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถมานั่งพักผ่อน และชมความอัศจรรย์ของธรรมชาติที่มีค้างคาวอยู่รวมกันนับล้าน ไปพร้อมกัน
– ถ้ำพระ อยู่ใกล้เคียงกับถ้ำค้างคาว เป็นถ้ำที่มีลักษณะยาวเฉียงขึ้นด้านบน สามารถเดินทะลุถึงยอดภูผาม่านได้ แต่เส้นทางค่อนข้างลำบากภายในถ้ำ มีหินงอกหินย้อยสวยงามและมีเสาหินขนาดใหญ่ รถยนต์สามารถเข้าถึงได้ตลอดทั้งปี แต่เหมาะที่จะท่องเที่ยวในฤดูหนาว เนื่องจากในฤดูฝนมีน้ำไหลผ่านถ้ำทำให้มีตะไคร่จับก้อนหิน
โครงการพัฒนาป่าดงลาน 4 ตั้งอยู่ที่บ้านวังสวาบหมู่ 1 ตำบลวังสวาบ ห่างจากที่ว่าการอำเภอฯประมาณ 14 กิโลเมตร ที่นี่เป็นที่ทำการของหน่วยงานกรมป่าไม้ บริเวณรอบๆเงียบสงบ อากาศหนาวเย็น มีบ้านพักรับรองแขกได้ประมาณ 30-50 คน นอกจากนั้นยังมีห้องประชุมขนาดย่อม เหมาะสำหรับผู้ที่มาพักผ่อนเป็นหมู่คณะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (043) 249001
– ถ้ำภูตาหลอตั้งอยู่ที่บ้านวังสวาบ ห่างจากที่ว่าการอำเภอฯ 17 กิโลเมตร รถยนต์เข้าถึงได้เฉพาะในฤดูแล้ง เป็นถ้ำที่โอ่งโถง พื้นที่ประมาณไร่เศษ เพดานถ้ำสูงประมาณ 5-7 เมตร มีหินงอกหินย้อยซึ่งยังอยู่ในสภาพที่เป็นธรรมชาติ พื้นถ้ำเป็นดินเรียบอากาศภายในเย็นสบาย หินบางก้อนมีลักษณะคล้ายหินเขี้ยวหนุมาน
– น้ำตกตาดฟ้าเป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยตาดฟ้า ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น กับอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ในท้องที่บ้านดงสะคร่าน หมู่ 7 ตำบลวังสวาบ ห่างจากที่ว่าการอำเภอฯประมาณ 40 กิโลเมตร รถสามารถเข้าไปถึงแค่บ้านตาด-ฟ้า หลังจากนั้นต้องเดินเท้าต่อไปอีก มีน้ำตกทั้งหมด 5 ชั้น ชั้นที่สวยงามที่สุดคือ ชั้นสุดท้ายซึ่งมีความสูงประมาณ 80 เมตร ฤดูที่น้ำตกตาดฟ้าจะสวยที่สุดคือ ฤดูฝน
– ถ้ำพญานาคราช ภายในมีหินงอกหินย้อยลักษณะเป็นริ้วคล้ายม่าน ประดับด้วยเกร็ดประกายแวววาวของหินแร่สวยงามมาก ถ้ำนี้มีความคดเคี้ยวคล้ายดั่งตัวพญานาค ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร
– ถ้ำลายแทงอยู่ถัดจากถ้ำพญานาคราชมาประมาณ 800 เมตร มีภาพเขียนสีโบราณบนผนังถ้ำกว้างประมาณ 2 ตารางเมตร ภาพมีลักษณะต่างๆ เช่น ภาพคน สัตว์และอื่นๆ รวมแล้วประมาณ 70 ภาพ เมื่อชาวบ้านมาพบคิดว่าเป็นลายแทงบอกสมบัติจึงเรียกว่าถ้ำลายแทง
– นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหนึ่งแห่งคือ “น้ำตกตาดร้อง” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า”น้ำตกตาดฮ้อง”อยู่ในเขตจังหวัดเลยระหว่างรอยต่ออุทยานแห่งชาติภูกระดึง และอุทยานแห่งชาติภูผาม่านและลำน้ำพอง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่สูงประมาณ 70 เมตร เล่ากันว่าน้ำตกแห่งนี้ร้องได้เพราะบริเวณใต้น้ำตก มีแผ่นหินขนาดใหญ่ยื่นออกมารองรับน้ำตก เปรียบเสมือนลิ้นขนาดใหญ่เวลาน้ำตกลงมากระทบแผ่นหิน และแฉลบไปตามซอกหินต่างๆ ทำให้เกิดเสียงดังประหลาดก้องไปทั่วป่า
– ที่อุทยานแห่งนี้ยังไม่มีที่พักและ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว ผู้สนใจเที่ยวชมควรเตรียมพร้อมในทุกด้าน รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734
– ผานกเค้าเป็นภูเขาสูงตั้งตระหง่านอยู่ริมลำน้ำพอง อยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น 125 กิโลเมตร ตามทางหลวงสายขอนแก่น-วังสะพุง (หมายเลข 2 และ 201) ผานกเค้าอยู่ทางด้านซ้ายมือของบ้านดงลาน ลักษณะของผานกเค้าเป็นภูเขาหินสีดำ มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่ประปราย บริเวณที่จะมองเห็นเค้าโครงของนกเค้าได้ชัดเจน ควรเดินเข้าไปในศูนย์เพาะชำกล้วยไม้ กองบำรุง กรมป่าไม้ ซึ่งตั้งอยู่อีกฟากถนน จะเห็นว่าลักษณะผาเหนือจะงอยปากขึ้นไปมีลักษณะเป็นหงอน ถัดลงมาเป็นหินกลมโค้งต่ำจากส่วนหงอนลงมาเป็นส่วนหัว ตรงกลางหัวมีรอยหินกะเทาะเป็นสีส้มอยู่ในตำแหน่งดวงตา ต่ำลงมาจากส่วนหัวจะถึงแนวปีกทั้งสองข้างที่กางออก
ข้อมูลท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวอ.มัญจาคีรี : อ.ชนบท จังหวัดขอนแก่น
อำเภอมัญจาคีรี
– วัดอุดมคงคาคีรีเขตตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านโคก เป็นวัดป่าของหลวงปู่ผางซึ่งเคยเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ปัจจุบันท่านมรณ-ภาพแล้ว แต่มีอนุสรณ์สถานที่บรรจุอัฐิของหลวงปู่ผางอยู่ในบริเวณวัด วัดนี้ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขามีต้นไม้ป่าขึ้นอยู่ร่มรื่น เป็นวัดที่เน้นการปฏิบัติวิปัสสนา
– การเดินทาง ไปตามเส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 12) ประมาณ 14 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าเส้นทางสายบ้านทุ่ม-มัญจาคีรี (ทางหลวงหมายเลข 2062) อีกประมาณ 44 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าเส้นทางสายมัญจาคีรี-ชัยภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 229) ประมาณ 12 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าวัดอีก 12 กิโลเมตร
– หมู่บ้านเต่าจะมีเต่าบกชนิดหนึ่ง (ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า “เต่าเพ็ก”) ลักษณะกระดองจะมีสีเหลืองแก่ปนน้ำตาลอยู่เป็นจำนวนมาก บ้างก็จะอยู่บริเวณใต้ถุนบ้านเพื่อรออาหารจากชาวบ้าน บ้างก็เดินอยู่ตามถนนภายในหมู่บ้านซึ่งจะหาดูได้ไม่ยาก เมื่อเดินทางไปถึงจากขอนแก่นไปตามทางหลวงหมายเลข 12 (ขอนแก่น-ชุมแพ) ประมาณ 10 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2062 (ขอนแก่น-มัญจาคีรี) ประมาณ 54 กิโลเมตร (ก่อนถึงอำเภอมัญจาคีรี 2 กิโลเมตร) ถึงบริเวณบ้านกอก ปากทางเข้าหมู่บ้านเต่าอยู่ด้านซ้าย จะสังเกตเห็นเป็นรูปเต่าจำลอง 2 ตัว วางอยู่บนแท่นหินสูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดศรีสุมัง จากนั้น เลี้ยวซ้ายใช้เส้นทางลูกรังข้างวัดเข้าสู่เขตหมู่บ้านกอก ประมาณ 50 เมตร ก็จะถึงหมู่บ้านเต่า
อำเภอชนบท
– ศาลาไหมไทย หรือ “อาคารเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาราชินี” ตั้งอยู่บริเวณวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระ-บรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ (12 สิงหาคม 2535) เพื่อเป็นศูนย์สืบสานพระราชปณิธานงานศิลปาชีพ ด้านผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมของภาคอีสาน รวมทั้งเป็นศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสาน ภายในอาคารจัดแสดงกรรมวิธีการผลิตตั้งแต่มัดย้อมจนถึงวิธีการทอ อุปกรณ์เครื่องใช้เกี่ยวกับไหมและของเก่าแก่ควรอนุรักษ์ รวมถึงผ้าไหมมัดหมี่โบราณลวดลายต่างๆ ที่พิเศษที่สุดคือที่นี่จัดแสดง ผ้าไหมมัดหมี่ที่แพงที่สุดในโลกฝีมือชาวอ.ชนบท และเคยชนะการประกวดผ้าไหมของเอเชีย พร้อมทั้งได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
ศาลาไหมไทย เปิดให้นักท่องเที่ยวชมทุกวันในเวลาราชการ รายละเอียดติดต่อที่วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น 40180 โทร. (043) 286160
– การเดินทาง จากขอนแก่น ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (ขอนแก่น-โคราช) 44 กิโลเมตร เลี้ยวขวาที่สี่แยกบ้านไผ่เข้าทางหลวงหมายเลข 229 ไปอีก 11 กิโลเมตร ศาลาไหมไทยอยู่ทางซ้ายมือ (ตรงข้ามกับหนองกอง-แก้ว หนองน้ำงดงามของอำเภอชนบท)