ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์หลักเมือง
สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวขอนแก่นแห่งนี้ ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาสุขใจ ถนนเทพารักษ์หน้าเทศบาลขอนแก่น ท่านเจ้าคุณปู่พระราชสารธรรมมุนี และหลวงธุรนัยพินิจ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้ริเริ่มสร้างขึ้น โดยนำหลักศิลาจารึกจากโบราณสถานในท้อง ที่อำเภอชุมแพมาประกอบพิธีทางพุทธศาสนา และตั้งเป็นศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2499
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น
เป็นที่เก็บรวบรวม และจัดแสดงโบราณวัตถ ุและศิลปวัตถุอันมีค่า ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มีการจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่ ที่บ้านเชียงและเครื่องมือเครื่องใช้ของผู้คนในยุคนั้น สิ่งที่ควรชมสำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่เป็นงานพุทธศิลป์สมัยทวารวดี จำหลักภาพพุทธประวัติที่งดงามและสมบูรณ์มาก พบที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ นอกจากนั้นยังมีศิลปวัตถุสมัยขอมหรือลพบุรีอันได้แก่ ทับหลังจากปราสาทหินในภาคอีสาน นอกเหนือจากโบราณวัตถุที่พบในท้องถิ่นแล้ว ที่นี่ยังจัดแสดงศิลปวัตถุสมัยอื่นไว้ด้วย เช่น สุโขทัย อยุธยา เป็นต้น และส่วนหนึ่งก็จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านไว้ด้วย เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ถนนหลังศูนย์ราชการ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. ปิดวันจันทร์, วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ โทร. 043-246170
บึงแก่นนคร
ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลกลางเมืองขอนแก่น เป็นบึงขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ 603 ไร่ นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ “เจ้าเพียเมืองแพน” ผู้ก่อตั้งเมืองขอนแก่นแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่ที่นิยมมาพักผ่อนหย่อนใจ และทำกิจกรรมนันทนาการของชาวเมือง เพราะมีบรรยากาศสบายๆ พื้นที่โดยรอบมีการปรับปรุงตกแต่ง ให้เป็นสวนสุขภาพ ประดับประดาด้วยประติมากรรมรูปต่างๆ ดูเพลินตาเพลินใจ ยิ่งไปกว่านั้นทางเทศบาลยังปลูกต้นคูณ และไม้ดัดไว้โดยรอบ เพิ่มความร่มรื่นสวยงามให้กับสถานที่ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีสนามเด็กเล่น และร้านอาหารเปิดบริการหลายประเภทอีกด้วย
– มหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 บนพื้นที่ประมาณกว่า 5,000 ไร่ บริเวณ มอดินแดง เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ทรงกระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2510 มหาวิทยาลัยแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมือง 4 กิโลเมตร มีทางเข้าสองทางคือ ด้านถนนมิตรภาพ (สายขอนแก่น-อุดรธานี) และด้านถนนประชาสโมสร (สายขอนแก่น-เลย) สิ่งที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวคือ “บึงสีฐาน” ซึ่งมีนกเป็ดน้ำอพยพมาอาศัยอยู่ในช่วงฤดูหนาว
– วัดไชยศรี ตั้งอยู่ที่บ้านสะวี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2408 สิ่งที่น่าสนใจคือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ดูสวยงามแปลกตาฝีมือนายทอง ทิพย์ชา ช่างพื้นบ้านชาวมหาสารคาม ภาพจิตรกรรมที่วัดนี้จะเขียนทั้งภายในและภายนอกสิม(โบสถ์) สิ่งที่สะดุดตาอันดับแรกคือการใช้สี ช่างจะเขียนด้วยสีฝุ่นโทนสีคราม เหลือง ขาว มองสบายตา ลักษณะการเขียนภาพเน้นสัดส่วนที่เกินจริง อารมณ์ของภาพดูสนุกสนาน ตัวละครจะออกท่าทางโลดโผน เรื่องราวที่เขียนบนฝาผนังด้านนอกเป็นรูปนรกแปดขุม ภาพพระเวสสันดร นิทานพื้นบ้านเรื่องสังข์สินไชย ภาพทวารบาล ส่วนด้านในจะเล่าเรื่องพุทธประวัติ มีภาพเทพ มนุษย์และสัตว์ต่างๆ แต่ปรกติวัดในต่างจังหวัดยังคงเคร่งตามประเพณีเดิม คือ ผู้หญิงไม่สามารถเข้าไปภายในโบสถ์ได้ ซึ่งวัดไชยศรีก็เป็นวัดหนึ่งที่ยังรักษาธรรมเนียมนี้ อยู่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของสิมโบราณ เดิมเป็นหลังคาแบบอีสานคือมีปีกยื่น ต่อมาหลังคาชำรุด ชาวบ้านจึงร่วมกันปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นแบบรัตนโกสินทร์ ซึ่งไม่สามารถกันแดดกันฝนได้ทั่วถึง จึงทำให้ภาพจิตรกรรม ที่ผนังด้านนอกเลือนไปบ้าง แต่อย่างไรก็ดีกรมศิลปากร ก็ได้เข้ามาต่อเติมปีกด้านข้างของโบสถ์แล้ว นอกจากนั้นยังยกพื้นขึ้นเพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะฐานด้วย
– การเดินทาง ไปตามถนนมะลิวัลย์สายขอนแก่น-ชุมแพ ถึงกิโลเมตรที่ 14 แล้วเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหมู่บ้านสาวะถี ผ่านบ้านม่วงรวมระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นทางลูกรังประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าจะไปโดยทางลาดยางตลอดต้องอ้อมนิดหน่อยผ่านบ้านม่วง บ้านโคกล่าม บ้านหนองตาไก้ บ้านม่วงโป้ บ้านโนนกู่และเข้าสู่สาวะถี รวมระยะทาง 21 กิโลเมตร
– กู่แก้ว ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนช้าง เป็นศาสนสถานเขมรขนาดเล็กสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ในพุทธศาสนานิกายมหายาน ประกอบด้วย “บรรณาลัย”(ห้องสมุด) และองค์ปรางค์ประธาน ภายในกำแพงแก้ว ส่วนนอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มี”บาราย”(สระน้ำ)ก่อด้วยศิลาแลง ระหว่างการบูรณะพบศิลาจารึกสลัก เป็นภาษาสันสกฤตกล่าวถึงพระประสงค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในการสร้างศาสนสถาน เพื่อเป็นทั้งที่ประกอบพิธีกรรม ทางศาสนาและรักษาโรคภัยไข้เจ็บ แก่ประชาชนด้วยเรียกว่า “อโรคยาศาล” นอกจากนั้นยังพบรูป สลักหินทรายพระโพธิสัตว์ พระนารายณ์ทรงครุฑ และพรหมทรงกระบือ
ข้อมูลท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยว อ.น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
อำเภอน้ำพอง
– พระธาตุขามแก่นสร้างขึ้นประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ตั้งอยู่ในวัดเจติยภูมิ ตำบลบ้านขาม ตามประวัติโดยย่อ กล่าวว่าโมริยกษัตริย์เจ้าเมืองโมรีย์ ซึ่งเป็นเมืองอยู่ในอาณาเขตของประเทศกัมพูชา มีความประสงค์ที่จะนำพระอังคารของ พระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ไว้เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ มาบรรจุพระธาตุพนม จึงโปรดให้พระอรหันต์และพระเถระเจ้าคณะรวม 9 องค์นำขบวนอัญเชิญพระอังคารมาในครั้งนี้ เมื่อผ่านมาถึงดอนมะขามแห่งหนึ่ง ซึ่งมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือแต่แก่น เนื่องจากเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว ละบริเวณนี้ภูมิประเทศราบเรียบดี จึงหยุดคณะพักชั่วคราว รุ่งเช้าจึงเดินทางต่อไปถึงภูกำพร้า ปรากฏว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว จึงเดินทางกลับและตั้งใจว่า จะนำพระอังคารธาตุกลับ ไปประดิษฐานไว้ที่บ้านเมืองของตน แต่เมื่อเดินทางผ่านดอนมะขามอีกครั้ง ปรากฏว่าแก่นมะขามที่ตายแล้วนั้น กลับยืนต้นแตกกิ่งก้านผลิใบเขียวชอุ่มเป็นที่น่าอัศจรรย์ คณะอัญเชิญพระอังคารธาตุจึงพร้อมใจกัน สร้างเจดีย์ครอบต้นมะขามนี้ พร้อมกับนำพระอังคารธาต ุและพระพุทธรูปบรรจุไว้ในองค์พระธาตุ และให้นามว่าพระธาตุขามแก่นมาจนทุกวันนี้ พระธาตุขามแก่นถือว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดขอนแก่น ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 จะมีงานฉลองและนมัสการพระธาตุเป็นประจำ
– การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 209 (ขอนแก่น-กาฬสินธุ์) ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 12 กิโลเมตร เมื่อข้ามลำน้ำพองแล้ว เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 14 กิโลเมตร
– กู่ประภาชัย หรือ กู่บ้านนาคำน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านนาคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ การเดินทาง ไปทางเดียวกับพระธาตุขามแก่น ตรงไปก่อนถึงสะพานข้ามคลองส่งน้ำจากลำน้ำพอง เลี้ยวซ้ายตามถนนเลียบคลองส่งน้ำแล้วเลี้ยวขวา ข้ามสะพานเข้าหมู่บ้านนาคำน้อย กู่จะอยู่ภายในวัดกู่บ้านนาคำน้อย หรือจะขับรถข้ามสะพานข้ามคลองส่งน้ำ ตรงไปตามถนนลาดยางประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะมีป้ายบอกทางให้เลี้ยวซ้ายผ่านหมู่บ้านไปประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงกู่ประภาชัย
– กู่ประภาชัย คือกลุ่มโบราณสถานที่มีลักษณะ แผนผังอย่างเดียวกันกับโบราณ สถานที่พบหลักฐานแสดงอโรคยาศาล หรือสถานพยาบาลที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมรโบราณโปรดฯให้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ.1720-1780) คือประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีมุขยื่นทางด้านหน้า ด้านขวามือเยื้องไปข้างหน้าเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า บรรณาลัย อาคารทั้งสองล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว โดยมีโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้าออกด้านหน้าหรือทางด้าน ทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว นอกกำแพงที่มุมซ้ายมีสระน้ำ 1 สระทั้งหมดสร้างด้วยศิลาแลง โดยมีเสาประดับประตู ทับหลังเป็นหินทราย ปัจจุบันหักพังแต่ได้รับการดูแลรักษาจากทางวัดเป็นอย่างดี ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478
– หมู่บ้านงูจงอาง บ้านโคกสง่า ต.ทรายมูล ชาวบ้านโคกสง่าแต่เดิมมีอาชีพขายยาสมุนไพร ควบคู่กับการทำนามาแต่รุ่นปู่ย่าตายาย การขายยาสมุนไพรในสมัยก่อน ต้องเดินเท้าไปเร่ขายยาตามหมู่บ้านต่างๆด้วยความยากลำบาก แต่เมื่อปีพ.ศ. 2494 พ่อใหญ่เคน ยงลา หมอยาบ้านโคกสง่าจึงได้คิดหางูเห่ามาแสดงเพื่อเป็นการดึงดูดคนมาดู แทนที่จะต้องเดินไปขายยาในทุกๆ หมู่บ้านเช่นเคย ปรากฏว่าการแสดงประสบความสำเร็จสามารถเรียกคนมาดูได้มากพอสมควร แต่เนื่องจากงูเห่านั้นมีอันตรายมากสามารถพ่นพิษได้ไกลถึง 2 เมตรพ่อใหญ่จึงเปลี่ยนมาใช้งูจงอาง แสดงแทนและถ่ายทอดวิชาแสดงงูให้คนในหมู่บ้าน เมื่อว่างเว้นจากการเกษตรชาวบ้าน จะรวมกลุ่มเดินทางออกเร่แสดงงูเพื่อขายยาสมุนไพร ส่วนการแสดงที่หมู่บ้านนั้นจะจัดขึ้นบริเวณลานวัดศรีธรรมา และรอบๆบริเวณก็จะมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับงูจงอาง รวมทั้งมีโรงเรือนเพาะเลี้ยงงูจงอางอยู่ด้วย
– ปัจจุบันการแสดงงูจงอางบ้านโคกสง่าเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาก ชาวบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนจะเลี้ยงงูจงอางไว้ใต้ถุนบ้าน มีการจัดแสดงหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดให้คนสนใจยิ่งขึ้น เช่นการแสดงละครงูตามจังหวะเพลง การชกมวยระหว่างคนกับงูจงอางจน ชาวบ้านที่มีชื่อเสียงทางการแสดงงูมีฉายาประจำ เช่น กระหร่องน้อย เมืองอีสาน, ทองคำ ลูกทองชัย ฯลฯ
– บ้านโคกสง่าอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเป็นระยะทาง 49 กิโลเมตร เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 2(ถนนมิตรภาพ) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 33 เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางไปอำเภอกระนวน ตามทางหลวงหมายเลข 2039 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 14 เมื่อสังเกตเห็นป้อมยามตำรวจพังทุยทางด้านซ้าย ให้เลี้ยวขวาไปตามถนนลูกรังผ่านบ้านนางาม วัดสระแก้ว เมื่อถึงสี่แยกที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านแล้วเลี้ยวซ้ายไปประมาณ 600 เมตร จะถึงประตูทางเข้าหมู่บ้าน