อุทยานแห่งชาติน้ำพอง เป็นชื่อเรียกตามต้นกำเนิดลำน้ำพอง ที่ไหลมารวมกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ (เดิมชื่ออ่างเก็บน้ำน้ำพอง) เป็นอุทยานแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของจังหวัดขอนแก่น แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า น้ำพอง-ภูเม็ง เพราะมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเทือกเขาภูเม็ง อุทยานแห่งชาติน้ำพองตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดขอนแก่น ติดกับเขื่อนอุบลรัตน์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโสกแต้ ป่าภูเม็ง ป่าโคกหลวง ป่าโคกหลวงแปลงที่สาม ป่าภูผาดำ ป่าภูผาแดง ในเขต อ.อุบลรัตน์ อ.บ้านฝาง อ.หนองเรือ อ.มัญจาคีรี และ กิ่ง อ.โคกโพธิ์ชัย จ.ขอนแก่น รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของ อ.บ้านแท่น อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ มีเนื้อที่ประมาณ 197 ตารางกิโลเมตร หรือ 123,125 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
– สภาพพื้นที่โดยทั่วไป มีลักษณะสัณฐานเป็นเทือกเขาหินทรายสูง จากระดับน้ำทะเลปานกลางคล้ายกับเทือกเขาทั่ว ๆ ไปของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเทือกเขาเหล่านี้ทอดตัวเป็นแนวยาวจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ ขนานกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารส่วนหนึ่งของลำน้ำที่สำคัญหลายสาย เช่น ลำน้ำพอง ลำน้ำเชิญ ลำน้ำชี เป็นต้น แบ่งพื้นที่ได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่ในเทือกเขาภูพานคำ ด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้อยู่ในเทือกเขาภูเม็ง พื้นที่ด้านทิศตะวันตก มีสภาพลาดชันสลับกับหน้าผาในบางช่วงจรดที่ราบอ่างเก็บน้ำด้านล่าง ส่วนพื้นที่ด้านทิศตะวันออก เป็นที่ราบเชิงเขามีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 600 เมตร
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
– พื้นที่ประมาณร้อยละ 80 ของอุทยานแห่งชาติน้ำพองปกคลุมไปด้วยป่าเต็งรังโดยมีป่าเบญจพรรณ ป่าทุ่งหญ้า ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในบางพื้นที่ ลึกเข้าไปบริเวณตอนกลางของอุทยานแห่งชาติ ทั้งในเทือกเขาภูพานคำและ เทือกเขาภูเม็งมีสภาพเป็นป่าดิบแล้งที่สมบูรณ์จัดเป็นป่าต้นน้ำ ลำธารที่ไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ บริเวณนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และแหล่งสมุนไพรที่สำคัญของอุทยานอีกด้วย พันธุ์ไม้มีค่าและพบเห็นได้ทั่วไป เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง เหียง กระบก มะพอก ตะเคียนหิน ไม้พื้นล่างจำพวก ปรงป่า เถาวัลย์ ไม้หนามชนิดต่าง ๆ รวมทั้งสมุนไพรนานาพันธุ์อีกมากมาย
– สำหรับสัตว์ป่าส่วนใหญ่ มักอาศัยอยู่ในป่าดิบแล้งบริเวณเทือกเขาภูเม็ง เพราะเป็นแหล่งหากินที่อุดมสมบูรณ์และถูกรบกวนจากมนุษย์น้อยมาก สัตว์ป่าที่พบเห็นเป็นสัตว์ขนาดกลางและขนาดเล็ก อาทิ หมูป่า เก้ง สุนัขจิ้งจอก เม่น นิ่ม กระต่ายป่า ไก่ป่า งู และนกชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
แหล่งท่องเที่ยว
– อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ พื้นที่บริเวณหน้าที่ทำการอุทยานฯ มีบ้านพัก ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ห้องสุขาไว้บริการผู้มาเยือน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรก ที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับทิวทัศน์อันงดงาม ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ภาพวิถีชีวิต ของชาวประมงที่ล่องเรือหาปลาในคุ้งน้ำด้านล่าง หรือความงดงามยามตะวันลับฟ้าในช่วงเย็น บริเวณนี้จึงเหมาะสำหรับการเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ การแค้มป์ปิ้งแรมคืนตลอดจนกิจกรรมสันทนาการต่าง
– จุดชมวิวหินช้างสี กลุ่มหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนสันเขาป่าโสกแต ้เหนือที่ทำการอุทยานแห่งชาติขึ้นไป เป็นจุดชมวิวยามเช้าเย็น ที่พระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตกที่สวยงามที่สุดของน้ำพอง เหตุที่ชื่อหินช้างสีเพราะครั้งอดีต มีช้างป่ามาใช้ลำตัวสี กับก้อนหินขนาดใหญ่และทิ้งร่องรอยของดินติดไว้ ด้านบนของจุดชมวิวหินช้างสีเป็นลานหินกว้างขนาดใหญ่ จุดสูงสุดมีก้อนหินสัณฐานคล้ายหัวกระ โหลกตั้งโดดเดี่ยวเป็นเอกเทศ ด้านบนลานหินนี้สามารถมองเห็นทัศนียภาพได้โดยรอบ ทั้งทางด้านทิศเหนือทิศใต้ ทิศตะวันออก ที่ถูกปูพรมด้วยผืนป่าอันเขียวขจี หรือตัวเมืองขอนแก่นที่อยู่ไกลลิบ ออกไป ส่วนด้านทิศตะวันตก จะพบกับทัศนียภาพของธรรมชาติอันงดงาม และกว้างไกลของอ่างเก็บน้ำ เขื่อนอุบลรัตน์จนสุดสายตาที่เทือกเขาภูเวียงและภูเก้า
– พลาญชาด หรือ ลานชาด อยู่ห่างจากหินช้างสีใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 30 นาที ลักษณะเป็นลานหินกว้างมีพันธุ์ไม้พื้นบ้าน ชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า ต้นชาด ขึ้นอยู่บนลาน จากจุดนี้สามารถมองเห็นสภาพผืนป่าทั่ว ๆ ไปของน้ำพองได้อย่างชัดเจน ผู้ที่เดินทางไปยังหินช้างสีจึง น่าจะแวะชมพลาญชาดด้วยเพราะอยู่ในเส้นทางแนวเดียวกัน
– คำโพน เป็นบ่อหินกลมคล้ายปล่องภูเขาไฟ เส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ 5 เมตร เกิดจากสภาพธรรมชาติทางธรณีวิทยา คำโพนตั้งอยู่ไม่ห่างจากพลาญชาดและหินช้างสีมากนัก
– ผาสวรรค์ เป็นลานหินขนาดใหญ่ยื่นออกไปทางทิศเหนือและทิศตะวันตก ถือได้ว่าเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามไม่แพ้หินช้างสีตั้งอยู่ห่างจากหินช้างสีไปทางทิศเหนือประมาณ3กม.โดยการเดินเท้า การเดินทางเข้าไปค่อนข้างลำบาก จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เดินทางไปพักค้างแรมมากกว่าไปเช้าเย็นกลับ
– เขาภูเม็ง ยอดตั้งอยู่ทางทิศใต้ของที่ทำการอุทยานฯ มีสภาพเป็นป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งสมุนไพรและป่าต้นน้ำชั้นดีของน้ำพอง มีสัตว์ป่าอาศัยอย่างชุกชุม จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับธรรมชาติและสมุนไพรอย่างแท้จริง
– หน้าผาต่าง ๆ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ไม่มากนักเดินเท้าขึ้นไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ คำโพน พลาญชาด หินช้างสีจะมีหน้าผาตลอดเส้นทาง หน้าผาแต่ละแห่งสามารถมองเห็นทิวทัศน ์ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ สภาพผืนป่า หรือทิวเขาต่างๆ ทางด้านทิศตะวันตกได้อย่างชัดเจน จึงเหมาะสำหรับเป็นเส้นทางเดินเท้า ศึกษาธรรมชาติเป็นวงกลมใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 3-4 ชม.
สิ่งอำนวยความสะดวก อุทยานแห่งชาติน้ำพองได้จัดสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว
การเดินทาง
– สำหรับการเดินทางมาอุทยานแห่งชาติน้ำพองสามารถเดินทางได้ 2 ทาง คือ
1.เส้นทางแรก จากตัวเมืองขอนแก่นตามทางหลวงหมายเลข 12 (ไป อ.ชุมแพ) ถึง กม.30 จะมีแยกขวาเข้าบ้านผือ เดินทางต่อไปอีกประมาณ 19 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งตั้งอยู่บนเชิงเขาด้านขวามือ รวมระยะทางประมาณ 49 กิโลเมตร
2.เส้นทางที่สอง จากขอนแก่น-อ.อุบลรัตน์ ตามทางหลวงหมายเลข 2 (ไป จ.อุดรธานี) แยกซ้ายเข้า อ.อุบลรัตน์ ถึงตัวอำเภอจะมีแยกเลี้ยวซ้ายตามเส้นทาง รพช.สาย ขก.3034 (หนองแสง- ท่าเรือ) เดินทางเลาะริมเขื่อนอุบลรัตน์มาอีกประมาณ 20 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ รวมระยะทางประมาณ 65 กิโลเมตร
การติดต่อ
– อุทยานแห่งชาติน้ำพอง ตู้ปณ.18 (ดอนโมง) อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น 40240 โทรศัพท์ : 043 – 248 006-7